RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต

5 นาทีในการอ่าน
RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต

ฤดูกาลที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และหนึ่งในโรคสำคัญที่มีโอกาสติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการป่วยง่าย ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ที่ อาจเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ไม่ควรประมาท เพราะอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้

ไวรัส RSV คืออะไร

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนมากมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

RSV ติดต่อได้อย่างไร

เชื้อไวรัส RSV สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส เช่น

  • น้ำมูก
  • น้ำลาย 
  • ละอองจากการไอ 
  • จาม

อาการติดเชื้อไวรัส RSV เป็นอย่างไร

หากเด็กได้รับเชื้อ RSV ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น

  • ไข้ 
  • ไอ 
  • จาม 
  • น้ำมูกไหล 

เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบส่งผลให้เป็น

  • โรคหลอดลมอักเสบ 
  • กล่องเสียงอักเสบ 
  • โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ 

อาการติดเชื้อไวรัส RSV ที่ต้องพบแพทย์ทันที 

ในเด็กที่ได้รับเชื้อ RSV บางคนเกิดอาการรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ควรรีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้

  • ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส 
  • ไอจนอาเจียน ไอแรง 
  • หอบเหนื่อย 
  • หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม 
  • หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing)
  • หายใจมีเสียงครืดคราด 
  • มีเสมหะในลำคอมาก ๆ 
  • รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย 
  • ซึมลง ปากซีดเขียว

รักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออกเพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวม ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตเจ้าตัวเล็กได้ และเชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอจึงต้องระวังและป้องกันให้ดี

img

ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างไร

  • หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ ช่วยลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70
  • รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเทสะดวก
  • ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลาเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง

ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโรคนี้มักมีอาการไม่รุนแรง คล้ายหวัดเจ็บคอหรืออาจไม่มีอาการ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากพอ แต่เป็นพาหะนำโรคนี้ไปสู่เด็กและคนอื่น ๆ หากเข้าไปสัมผัส จับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างมือก่อนสัมผัส เมื่อโดนตัวเด็กหรือสัมผัสโดนปากหรือจมูกก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ผู้ใหญ่จึงควรระวังอย่าแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV คืออะไร

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) คือ สารภูมิคุ้มกัน (Antibody) ต่อเชื้อไวรัส RSV แบบสำเร็จรูปที่พร้อมฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างที่รุนแรงจากการติดเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ได้อย่างไร

การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) แบ่งออกเป็นฤดูกาลแรกและฤดูกาลที่สอง ได้แก่

ฤดูกาลแรก

คุณแม่ที่ไม่ได้รับวัคซีน RSV หรือทารกเกิดใน 14 วันหลังจากคุณแม่ได้รับวัคซีน RSV

  • ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ในทารกแรกเกิด – 12 เดือนที่แข็งแรงดี
  • ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ในทารกอายุน้อยกว่า 12 เดือนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อไวรัส RSV รุนแรง ได้แก่
  • เด็กที่มีโรคปอดเรื้อรังจากภาวะคลอดก่อนกำหนด (BPD) ที่ยังต้องรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ หรือมีการใช้ออกซิเจนในช่วง 6 เดือนก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาด
  • เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง
  • เด็กที่มีโรค Cystic Fibrosis (CF) โรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคที่ระบบทางเดินหายใจ ปอดและระบบทางเดินอาหารรุนแรง 
  • เด็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและยังคงได้รับการรักษาอยู่ (Hemodynamically Significant Congenital Heart Disease)

คำแนะนำ:

  • ควรฉีดป้องกันช่วงฤดูกาลระบาดของ RSV ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปี
  • ทารกที่เกิดในช่วงฤดูกาลระบาดสามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV หลังคลอดได้ทันที
  • ปริมาณการฉีดที่แนะนำ คือ
  • ทารกน้ำหนักน้อยกว่า 5 กิโลกรัม ใช้ขนาด 50 มิลลิกรัม 1 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว
  • ทารกน้ำหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม ใช้ขนาด 100 มิลลิกรัม 1 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว

ฤดูกาลที่สอง

  • ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ในเด็กอายุ 12 – 24 เดือนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง

คำแนะนำ:

  • ปริมาณการฉีดที่แนะนำสำหรับเด็กอายุ 12 – 24 เดือนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ปริมาณ 200 มิลลิกรัม (ใช้แบบเข็มละ 100 มิลลิกรัม แบ่งฉีดกล้ามเนื้อ 2 ตำแหน่งในวันเดียวกัน)

ข้อควรระวังในการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV 

  • หากเด็กเจ็บป่วยต้องเลื่อนการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ออกไปจนกว่าจะหายดี
  • เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV ในฤดูกาลนั้นแล้ว ไม่แนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) 
  • การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ให้ร่วมกับวัคซีนตามวัยได้ ไม่ต้องเว้นระยะห่างกับวัคซีนทุกชนิด
  • การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ฉีดร่วมกับวัคซีนอื่น ๆ ได้ในวันเดียวกัน โดยฉีดคนละตำแหน่ง
  • การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและอายุของเด็ก ก่อนฉีดต้องปรึกษากุมารแพทย์ทุกครั้ง
  • ผลข้างเคียงจากการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV(Nirsevimab) มีเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดบวมบริเวณที่ฉีด ผื่น อาเจียน เป็นต้น

ข้อดีของภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป RSV (Nirsevimab) 

  • ลดโอกาสติดเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 79.5%
  • ลดความเสี่ยงนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 83.2%
  • ลดความรุนแรงและลดโอกาสจากการรักษาตัวในไอซียูได้ 75.3%
  • ภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป RSV (Nirsevimab) จะคงอยู่นานถึง 5 เดือน ครอบคลุมช่วงเวลาที่ระบาด

สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกติดเชื้อไวรัส RSV ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ หากลูกเข้าเรียนในเนิร์สเซอร์รีหรือโรงเรียนอนุบาลแล้วป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ควรป้องกันเจ้าตัวเล็กจากโรคติดเชื้อไวรัส RSV ด้วยการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ที่ป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แพทย์ที่ชำนาญการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV

นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์เฉพาะทางสาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV

ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแล ป้องกัน รักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV ด้วยความชำนาญของทีมกุมารแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้เจ้าตัวเล็กมีสุขภาพแข็งแรง พัฒนาการดี เติบโตสมวัย

แพ็กเกจฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV

แพ็กเกจฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ราคาเริ่มต้นที่ 17,900 บาท

คลิกที่นี่ 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. พรเทพ สวนดอก

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
นพ. พรเทพ สวนดอก

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 4 อาคาร B โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 20.00 น.

ประหยัดเวลาค้นหาแพทย์ด้วยตัวเอง

ให้ AI ช่วยประเมินอาการและแนะนำแพทย์ที่เหมาะสม

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด